Sunday, September 7, 2008

ทีมวิจัยของ CERN เตรียมยิงอนุภาคพุธนี้

หลังจากสร้างและเตรียมการทดลองสำหรับเครื่องยิงอนุภาคที่มีพลังงานสูงสุดมานาน (อ่านข่าวเก่า คลิกที่นี่ และ ที่นี่) นักวิจัยแห่ง CERN (European Organization for Nuclear Research) ประกาศเตรียมยิงอนุภาคครั้งแรกวันพุธที่ 10 กันยายนนี้ ท่ามกลางความหวาดกลัวของบางฝ่ายว่า การปะทะกันของอนุภาคที่ถูกเร่งจนมีพลังงานสูงเช่นนี้ จะทำให้เกิดหลุมดำที่กลืนโลกทั้งใบเข้าไป ถึงขั้นที่มีคนส่งจดหมายข่มขู่เอาชีวิตนักวิจัยของ CERN ให้หยุดการทดลอง อย่างไรก็ตามทาง CERN ได้มีการตีพิมพ์เอกสารให้ข้อมูลยืนยันถึงความปลอดภัยของการทดลองว่า ไม่มีอันตรายแน่นอน
รอดูผลกันเองแล้วกันครับ พุธนี้ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ที่มา
CERN

สะกดจิตสัตว์



ไม่ได้มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ถูกสะกดจิตได้ สัตว์อีกหลายชนิดก็ถูกสะกดจิตได้เช่นกัน พฤติกรรมการถูกสะกดจิตนี้อาจเป็นการตอบสนองของสิ่งมีชีวิต เพื่อแกล้งหลอกผู้ล่าว่าเหยื่อนั้นตายแล้ว เพื่อทำให้ผู้ล่าเลิกสนใจในตัวเหยื่อ

Friday, May 30, 2008

ดูดซับน้ำมันจากทะเลด้วย Nanosponges


งานวิจัยที่เพิ่งตีพิืมพ์ในวารสาร Nature แสดงความสามารถของ ฟองน้ำ ที่เกิดจากการสานกันของเส้นใยระดับนาโน (nanowire) ที่ประกอบขึ้นจาก manganese oxide แสดงความสามารถในการดูดซับน้ำมันได้มากถึง 10 เท่าของน้ำหนักฟองน้ำ และมีพื้นผิวที่ป้องกันการดูดซับของน้ำได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้ฟองน้ำนาโนนี้มีแนวโน้มที่จะถูกใช้ในการกำจัดน้ำมันที่ปนเปื้อนอยู่ในทะเลได้ ถึงแม้ว่าตอนนี้ผลดังกล่าวจะถูกแสดงในแลปเท่านั้น แต่ทีมนักวิจัยคาดว่า จะสามารถนำมาใช้ได้จริงในอีกไม่นานนี้

ข่าวและภาพจาก Nature

Wednesday, May 21, 2008

ภาพจากแลป: ทากเปลือย

ทากเปลือย (Nudibranch) สัตว์ทะเลที่ขึ้นชื่อเรื่องสีสันอันสดสวย
พบได้ในเขตทางตะวันตกของอินโด-แปซิฟิก
ในประเทศไทยมีพบได้บ้าง โดยเฉพาะบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์
ภาพจาก Bohol.ph
ดูภาพทากเปลือยสวยๆ เพิ่มเติมได้ที่ National Geographic

Thursday, May 15, 2008

Post-it อัจฉริยะ

ทุกคนคงจะคุ้นเคยกับ Sticky note หรือ Post-it กระดาษโน้ตทากาว ที่ถูกใช้ประจำในออฟฟิศและบ้าน เพื่อเขียนข้อความเตือนความจำ แล้วนำไปแปะตามที่ต่างๆ

ทีมงานจาก มหาวิทยาลัย MIT ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนา้ Quickies ซึ่งเป็น Sticky note อัจฉริยะ โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ ใส่เข้าไป เช่น นำแผ่นรองเขียนที่สามารถเชื่อมกับคอมพิวเตอร์ (ซึ่งมีใช้กันอยู่แล้ว) มาทำให้ข้อความที่เราเขียนบน Quickies ถูกส่งเข้าไปเก็บในคอมพิวเตอร์ของเรา และทีมงานได้พัฒนาซอฟแวร์ที่ใช้ระบบของ AI เพื่อใช้ในการจัดการข้อมูลจาก Quickies โดยข้อมูลจาก Quickies จะถูกแบ่งออกเป็นหวมดหมู่ต่างๆ ตามเนื้อหาที่เราเขียน เช่น หมวดงานที่ต้องทำ ซอฟแวร์จะรวบรวม งานที่ต้องทำทั้งหมดจาก Quickies แต่ละแผ่น และสามารถส่งเข้าไปยังมือถือได้ นอกจากนี้ Quickies แต่ละแผ่นจะมีตัวรับสัญญาณ RFID ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถบอกตำแหน่งของแผ่น Quickies ได้ ทำให้เราสามารถหาวัตถุที่เราแปะแผ่น Quickies ไว้ ได้อย่างง่ายดาย

ดูวีดีโอสาธิตการใช้งาน Quickies


ที่มา TFTO

Monday, May 5, 2008

นิ้วงอกกลับมาใหม่!!! พลังเวทเมนต์ของ "Pixie-Dust" หรือ "Extracelluar Matrix"

ลี สปีแวกก์ (Lee Spievak) ชายวัย 69 ปี ผู้ซึ่งนิ้วถูกตักขาดไปหนึ่งข้อ โดยอุบัติเหตุจาก เครื่องบินวิทยุบังคับ ในปี ค.ศ. 2005 ได้ถูกแนะนำจากน้องชายของเขา ซึ่งทำงานวิจัยด้าน regenerative medicine กับ ดอกเตอร์ สตีเฟน แบดีลิกก์ (Dr. Stephen Badylak) ที่มหาวิทยาลัย พิสเบิรกจ์ (University of Pittsburgh) ให้ใช้ผง ที่เรียกว่า "Pixie-Dust" หรือให้ถูกต้องจริงๆก็คือ "Extracelluar Matrix" ทำการรักษานิ้วของเขา

จากวีดิโอคลิปด้านล่าง สปีแวกก์ กล่าวว่านิ้วของเขางอกกลับมาใหม่ ภายใน 4 สัปดาห์ ซึ่งมีทั้งเส้นเลือด เล็บ และมีความรู้สึกเหมือนเดิม



ดอกเตอร์ สตีเฟน แบดีลิกก์ (Dr. Stephen Badylak) กล่าวว่าทีมของเขากำลังทำการทดลอง regenerating หรือการงอกใหม่ ในโครงสร้างที่มีความซับซ้อนมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ กองทัพอเมริกา ยังมีความสนใจที่จะใช้ยานี้ ในการรักษา ทหารซึ่งได้รับบาดเจ็บจากสงคราม เช่นทหารที่ขาขาด หรือผิวหนังถูกเผาไหม้ ซึ่งขณะนี้ ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการทดลอง (Clinical trial)

อ้างอิงจาก

Sunday, April 27, 2008

เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์: รำลึกเหตุการณ์เชอร์โนบิว แผนยึดโลก 1986

เขียนครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2549 ลงเวปไซด์ exsci.net

-1-
การประชุมลับที่มีไม่บ่อยนักบนดาว เดรค หรือที่ชาวโลกตั้งชื่อให้ว่าดาว HD 211415

เลขาธิการฝ่ายแผนงานการล่าดาวอาณานิคม พันเอก แกรมมอน-10-เอฟ กำลังเสนอความคืบหน้าของโครงการแก่ที่ประชุม
"เป็นดาวเคราะห์ที่สมบูรณ์ที่สุดในบรรดาดาวที่เราติดตามมา ทรัพยากรที่ถึงแม้จะถูกใช้ไปอย่างมากแล้ว แต่ก็ยังมากเกินพอสำหรับพวกเราเลยทีเดียว"

"แล้วจะเริ่มเมื่อไหร่" รองฝ่ายทรัพยากรพยายามเร่งรัดเข้าประเด็น

"พรุ่งนี้ เที่ยงตรง ทุกหน่วยจะเริ่มการโจนเข้าสู่ระบบสุริยะของดาวเป้าหมาย หน่วยอัลฟ่าจะกระจายโจมตีจุดสำคัญทั้ง 6 จุดก่อน หลังจากนั้นเบต้า และแกรมม่าจะตามเก็บจุดที่เหลือ" น้ำเสียงของ พันเอก แกรมมอน เต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจในแผนงานที่เขาริเริ่มและวางแผนมาตั้งแต่ต้น แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะไม่ว่าใครก็ตามที่ได้คุมกองทัพที่มีเทคโนโลยีทางการทหารที่ทันสมัยที่สุด
ที่เคยมีบนดาวดวงนี้ ก็ต้องมั่นใจเหมือนกับพันเอก แกรมมอน

“แล้วเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของพวกมันล่ะ อย่าลืมนะว่า พวกเราทนปริมาณสารกัมมันตภาพรังสีได้น้อยกว่าพวกมันหลายเท่า” ผู้ช่วยฝ่ายสาธารณสุขถามด้วยความเป็นห่วง

“ไม่ต้องกังวลไปหรอก ถึงแม้พวกมันบางส่วนจะเชื่อถึงการมีอยู่ของพวกเรา แต่ส่วนใหญ่กลับมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ หึหึ ระบบรับสถานการณ์รุกรานของพวกมันถึงได้ยังอ่อนหัดนัก เชื่อมือผมสิ” พันเอก แกรมมอน ด่วนสรุป

-2-
บนดาวเคราะห์โลก ประชากรผู้ซึ่งไม่รับรู้ถึงภัยพิบัติที่กำลังมาถึง ยังคงก้มหน้าก้มตาผลาญทรัพยากรที่ตนมีอยู่อย่างบ้าคลั่ง บางทีพวกเขาอาจจะรู้ก็ได้ว่า มันเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ดาวเคราะห์ของพวกเขารอดพ้นจากความสนใจของพวก
นักล่าทรัพยากรจากดาวอื่น หรือไม่ก็อาจเป็นเพียงความมักง่ายเท่านั้น

“นี่อัลฟ่าวัน ติดต่อยานแม่ การโจนเรียบร้อยดี กำลังมุ่งหน้าสู่ดาวเป้าหมาย ทุกระบบไม่มีปัญหา พร้อมรอรับคำสั่ง"

พันเอกแกรมมอน ผู้เดินทางมากับยานแม่ซีโร่ เพื่อมาคุมการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยจู่โจมโดยตรง รู้สึกได้ถึงวันเกียติยศของเขา แม้ผลงานที่ผ่านมาจะเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวเดรค ก็ไม่สามารถเทียบเท่าความยิ่งใหญ่ของงานนี้หากทำสำเร็จได้ ตำแหน่งพันเอกพิเศษ ที่สภาสูงไม่ได้มอบให้แก่ใครมาเป็นเวลาหลายสิบปี คงไม่ไกลเกินเอื้อม

หน่วยอัลฟ่าอยู่ในระยะจู่โจม พันเอก แกรมมอนจับไมโครโฟนแล้วประกาศปลุกใจบรรดาหน่วยจู่โจมระลอกแรก “อย่าลืมว่านี่เป็นการรบครั้งประวัติศาสตร์ เราไม่เคยจู่โจมดาวที่มีวิวัฒนาการและอารยะธรรมสูงขนาดนี้มาก่อน ความสำเร็จของพวกท่านจะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาวเดรค แด่ประชาชนชาวเดรคอันเป็นที่รัก ทุกคนจะภูมิใจในตัวท่าน..... เริ่มโจมตีได้”

“นี่อัลฟ่าวัน กำลังเข้าสู่เป้าหมายภายใน 15 วินาที 14...13...12..11...10...9...8...7...6...5”

“เดี๋ยวก่อน” เสียงแทรกมาจากศูนย์บัญชาการยานซีโร่ “เราตรวจจับพบสารกัมตภาพรังสีที่ระดับ A ที่พิกัด C1-1”
“ระบบป้องกันตัวเองหรือ เป็นไปไม่ได้ พวกมันรู้ตัวก่อนหรือ”
“อัตราการแพร่กระจายเร็วมาก อยู่ในระดับอันตราย ทุกหน่วยถอนตัวก่อน”

“ยกเลิกการบุกโจมตี นี่อัลฟ่าวัน ยกเลิกการบุกโจมตี ทุกลำกลับพิกัดยานแม่ก่อน”

ท่ามกลางความสับสนของเจ้าหน้าที่ภายในยานบัญชาการซีโร่ พันเอก แกรมมอน ดูจะตรึงเครียดที่สุด
“เกิดอะไรขึ้นวะ”

“เราไม่พบสัญญาณของการต่อต้านใดๆ น่าจะเป็นการรั่วไหลเองมากกว่าครับ” เจ้าหน้าที่รายงาน

“ทำไมมันต้องมาเกิดเหมาะเจาะอะไรตอนนี้ ผมไม่สนหรอกนะ ผมจะยึดดาวดวงนี้ให้ได้”

“แต่ท่านครับ เราคงไม่อยากได้ดาวที่ปนเปื้อนไปด้วยกัมตภาพรังสีนะครับ ผมว่าเราควรตรวจสอบการแพร่กระจายก่อนดีกว่าครับ”

“ท่านครับ มีคำสั่งจากสภาสูงให้ชะลอการจู่โจม และให้ติดตามสถานการณ์ไปก่อนครับ”

นับตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้นซึ่งตรงกับวันที่ 26 เมษายน ปี ค.ศ. 1986 ตามปฏิทินดาวโลก และผลจากการเมืองภายในและการต่อต้านการล่าดาวอาณานิคมที่มีมากขึ้น
ในหมู่ประชาชนชาวเดรค ดาวเคราะห์ดวงที่สามของระบบสุริยะแห่งกาแลคซี่ทางช้างเผือก
ก็ยังคงถูกครอบครองด้วยสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์มาจนถึงตราบปัจจุบัน

ขอไว้อาลัยแด่ ผู้เคราะห์ร้ายและผู้เสียสละจากเหตุการณ์โรงงานปรมาณูระเบิด ณ เชอร์โนบิว

ภาพจากแลป: ชุดกันน้ำสำหรับเพนกวิน

เพนกวินแก่วัย 25 ปีตัวนี้ มีอาการขนร่วง จนไม่สามารถที่จะลงว่ายน้ำได้
เนื่องจากขนของเพนกวินเป็นเสมือนแผ่นกันน้ำให้กับเพนกวิน
นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามออกแบบชุดกันน้ำให้กับเพนกวินตัวนี้
เพื่อให้มันกลับมาว่ายน้ำได้อีกครัง
ที่มา National Geographic

Friday, April 25, 2008

Semapedia เชื่อมวิกิพีเดียกับวัตถุรอบตัวเรา

โครงการ Semapedia เป็นโครงการไอเดียสุดเก๋ ที่ต้องการจะเชื่อมโยงบทความจากสารานุกรมออนไลน์อย่าง วิกิพีเดีย เข้ากับสถานที่ หรือวัตถุจริงที่อยู่รอบตัวเรา

ไอเดียของโครงการดังกล่าวคือการนำ บาร์โค้ดสองมิติที่เรียกว่า QR Code (ดูรูปด้านบน) ไปแปะตามสถานที่หรือวัตถุต่างๆ QR Code นั้นสามารถเก็บข้อมูลที่ถูกอ่านด้วยโปรแกรมที่หาดาวโหลดได้ฟรี
หากเรามีมือถือที่
1. มีกล้อง
2. มีโปรแกรมอ่านบาร์โค้ดดังกล่าว
3. และมือถือสามารถเชื่อมต่อเข้าอินเตอร์เนตได้
เราก็เพียงเอามือถือของเราไปถ่ายรูปบาร์โค้ดที่ติดอยู่ตามสถานที่หรือวัตถุต่างๆ แล้วบราวเซอร์ในมือถือของเราก็จะเปิดหน้า วิกิพีเดีย ที่เป็นข้อมูลของวัตถุหรือสถานที่นั้นๆ ใ้ห้เราอ่านทันที


รูปจาก random-good-stuff
ที่มา Semipedia

Monday, April 14, 2008

อาลัยอีกหนึ่งสุดยอดนักฟิสิกส์ John Archibald Wheeler

John Archibald Wheeler อดีตนักฟิสิกส์ทฤษฎีแห่งมหาวิทยาลัย Princeton ผู้ซึ่งเคยร่วมงานกับ ไอสไตน์ เพื่อพัฒนา unified field theory และเคยร่วมงานกับ นีล บอร์ เพื่อพัฒนาฟิสิกส์สาขา nuclear fission เป็นตัวหลักสำคัญในโครงการ Manhattan (atomic bomb) และ โครงการ Matterhorn (Hydrogen bomb) ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นผู้พัฒนา S-matrix ซึ่งถูกใช้ในการศึกษาฟิสิกส์อนุภาค นอกจากนี้ยังเป็นผู้คิดคำศัพท์ Wormhole (รูหนอน) และ Black hole (หลุมดำ) อีกทั้งยังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษาซึ่งต่อมากลายเป็นนักฟิสิกส์ชื่อดังอีกหลายคน อาทิ นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลอย่าง Richard Feynman

John Archibald Wheeler เสียชีวิตเมื่อเช้าวันที่ผ่านมา (13 เมษายน 2551) ขณะมีอายุได้ 96 ปี

ภาพจาก The new york times

Saturday, April 12, 2008

ภาพจากแลป: ดาว firefox??

ภาพถ่ายดาว V838 Monocerotis (ซ้าย) ถ่ายโดยกล้องฮับเบิ้ล
มีความคล้ายคลึงกับสัญลักษณ์ของ firefox (ขวา) อย่างบังเอิญ
ดาว V838 Monocerotis เป็นดาวที่อยู่ขอบๆ กาแลกซี่ทางช้างเผือกของเรา
ภาพจาก http://presurfer.blogspot.com/

รู้หรือไม่: พฤติกรรมลิงชิมแปนซี

1. ลิงชิมแปนซีใช้ก้อนหินแทนค้อนในการแกะเปลือกถั่วหรือผลไม้เปลือกแข็ง
2. ลิงชิมแปนซีใช้ใบไม้พับเป็นลักษณะของกระทงเพื่อตักน้ำกิน
3. ลิงชิมแปนซีใช้กิ่งไม้หรือใบหญ้าเพื่อแคะปลวกออกจากจอมปลวกมากิน
4. ชิมแปนซีบางสายพันธุ์หลีกเลี่ยงการเปียกน้ำ ในขณะที่บางสายพันธุ์ชอบเล่นน้ำ
5. ลิงชิมแปนซีปาก้อนหินเพื่อใช้เป็นอาวุธ
6. ลิงชิมแปนซีรู้จักเต้นเป็นจังหวะขณะเล่นฝน
7. ลิงชิมแปนซีบางชนิดใช้กิ่งไม้ที่มีปลายคมเพื่อล่าสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร
8. ลิงชิมแปนซีมักเคี้ยวใบไม้และคายเศษออกมา้เพื่อเรียกร้องความสนใจหรือเพื่อแสดงออกถึงความวิตก

ที่มา National Geographic Magazine

Wednesday, April 2, 2008

Free Will

ขณะที่ทุกคนกำลังทำงานกันอย่างขะมักเขม้น ก็มีเสียงหนึ่งตะโกนโพล่งขึ้นมา

"นี่ผมไม่เข้าใจเลย ทำไมเราจะต้องมาทำงานน่าเบื่อซ้ำซากอย่างนี้ทุกวันด้วย"

"หลานเอ๊ย งานนี้มันเป็นหน้าที่ของพวกเรา เราก็ทำอย่างนี้กันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษแล้ว" อีกเสียงหนึ่งตอบ

"แล้วลุงไม่รู้สึกเบื่อบ้างเหรอครับ ที่ตั้งแต่เกิดมา เราก็ต้องมาทำงานขนส่งก๊าซ เดินทางไปส่งยังที่ที่ไกลแสนไกล ส่งเรียบร้อยก็ต้องแบกก๊าซจากที่นั่นกลับมาอีก วนเวียนไปอยู่อย่างนี้ ผมเบื่อครับ"

"การทำงานนี้มันเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเรายังคงเป็นพวกเรา ถ้าไม่ได้ทำงานนี้ ลุงก็ไม่รู้ว่าพวกเราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร" ลุงตอบเสียงหนักแน่น

"ชีวิตของเรา เรากำหนดเองได้นะลุง อย่าให้ไอ้งานบ้าๆ นี่มันมาควบคุมเรา แล้วมันก็มีอะไรอีกตั้งหลายอย่างในโลกนี้ ที่เราทำแล้วมีความสุข" หลานยังคงพูดต่อ

"งั้นเหรอ แล้วเจ้าอยากจะทำอะไรล่ะ"

"เอ่อ...คือ..." หลานอึกอัก "เอาเป็นว่าผมเกลียดไอ้งานนี้ก็แล้วกัน แล้วผมก็เชื่อด้วยว่ามีอีกหลายคนที่คิดแบบผม ผมจะเป็นคนปลดปล่อยพวกเขาเอง" พูดจบหลานก็วิ่งหายไป ลุงก็ได้แต่ส่ายหน้า
.....................................................................................................

หลังจากนั้นไม่นาน ในระหว่างที่ทำงานกันอยู่ เพื่อนของลุงคนหนึ่งก็มาบอกกับลุงว่า
"นี่รู้รึป่าว ตอนนี้หลานแกมันก่อเรื่องวุ่นวายใหญ่แล้ว"

"มันไปทำอะไรเหรอ" ลุงถาม

"ก็ตอนนี้น่ะสิ หลานแกน่ะ มันเป็นผู้นำกลุ่มปลดปล่อย สนับสนุนให้เราเลิกทำงาน แล้วเลือกทางเดินชีวิตของเราเอง" เพื่อนของลุงเล่าด้วยความร้อนใจ "แล้วตอนนี้ก็มีพวกเราเห็นด้วยกับหลานแกเยอะด้วย"

"บ้าจริง นี่มันเอาจริงรึเนี่ย" ลุงร้องออกมาด้วยความตกใจ "ตอนนี้มันอยู่ที่ไหน"
......................................................................................................

ลุงวิ่งหน้าตาตื่นมาหาหลานที่กำลังถูกรายล้อมด้วยกลุ่มผู้สนับสนุนจำนวนมาก

"นี่เจ้าทำอะไรลงไปเนี่ย"

"อ้าวลุง ผมอยากเจอลุงอยู่พอดีเลย" หลานกล่าวทักขึ้นโดยไม่ได้สนใจกับอารมณ์ของลุง "ลุงดูสิ ตอนนี้ผมมีเพื่อนที่คิดแบบเดียวกับผมมากขนาดนี้แล้ว ลุงไม่สนใจจะเลิกทำงานนั่น แล้วมาร่วมกับพวกเราเหรอ"

"ลุงเคยบอกไปแล้วใช่มั้ย ว่าถ้าไม่ได้ทำงานนั่น พวกเราก็ไม่มีเหตุผลที่จะดำรงชีวิตอยู่ต่อไป" ลุงกล่าวด้วยความโกรธ

"ไม่มีเหตุผลที่จะดำรงชีวิตอยู่เหรอ ลุงพูดอะไรน่ะ" หลานยิ้ม "ดูพวกเราตอนนี้ที่สามารถบงการชีวิตตัวเองได้สิ มีความสุขกว่าเมื่อก่อนมากเลย ลุงยังอยากให้งานนั่นมาบงการชีวิตลุงอยู่อีกเหรอ"

"นี่ เจ้า..." ลุงพูดไม่ออกด้วยความโกรธสุดขีด แล้วก็หันหลังเดินจากไปทันที
......................................................................................................

ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง หญิงวัยกลางคนกำลังรอผลตรวจของลูกชายที่ป่วยอย่างใจจดใจจ่อ ในที่สุดหมอก็เดินเข้ามาหาเธอ
"คุณหมอคะ ลูกชายดิฉันเป็นอย่างไรบ้างคะ" เธอละล่ำละลักถามหมอ
"ผมเสียใจด้วยครับ ลูกคุณเป็นมะเร็งเม็ดเลือดแดง"
......................................................................................................

Tuesday, March 25, 2008

บุคคลในปัจจุบัน: Julian Barbour กับฟิสิกส์ที่ไม่มีเวลา

ในขณะที่นิวตันเปรียบเวลาเหมือนดั่งกระแสน้ำที่ไหลด้วยความเร็วคงที่เท่ากันหมดทั่วทุกแห่ง และไอสไตน์กล่าวว่าเราไม่สามารถแยกเวลาออกจากอวกาศ (space-time) Julian Barbour นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษกลับกล่าวว่า "เวลาไม่มีจริง"

เมื่อสมัยที่ Barbour ยังเป็นนักศึกษาอยู่ในประเทศเยอรมัน เขาได้ซื้อนิตยสารที่มีบทความเกี่ยวกับเวลาและอวกาศ เขียนโดยสุดยอกนักฟิสิกส์ Paul Dirac ในขณะที่ Barbour กำลังมุ่งหน้าไปพักผ่อนบนยอดเขาแห่งหนึ่ง แต่เมื่อเขาอ่านบทความดังกล่าวจบ คำถามเกี่ยวกับการมีอยู่ของเวลาได้เกิดขึ้นในหัวของเขา และเขาได้ตัดสินใจวนรถกลับ ยกเลิกการพักผ่อน และเริ่มพัฒนาทฤษฎีของเขาขึ้นทันที

แนวคิดของ Barbour นั้นกล่าวว่า เวลาไม่มีอยู่จริง สิ่งที่เรียกว่าอดีตเป็นเพียงความทรงจำของเราที่อยู่ในรูปของโครงสร้างเซลล์ประสาท อดีตของโลกเราก็เป็นเพียงโครงสร้างที่อยู่ในก้อนหินหรือฟอสซิล ในขณะที่อนาคตเป็นเพียงความเชื่อที่เรามีอยู่เท่านั้น แนวคิดของ Barbour ดูเหมือนจะเป็นความคิดในแง่ของปรัชญาที่เถียงกันได้ไม่รู้จบ แต่สิ่งที่ทำให้งานของเขาแตกต่างไปจากปรัชญาทั่วๆไปก็คือ เขาพิสูจน์สิ่งที่เขาเชื่อด้วยภาษาของคณิตศาตร์และฟิสิกส์ (mathematical physics)

ปัจจุบัน Barbour อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ และยังคงมุ่งหน้าพัฒนาแนวคิดของเขาต่อไป

ที่มา เวปไซด์ของ Julian Barbour

Friday, March 21, 2008

ครึ่งชีวิต (half-life) ของกิริยาสามช่อง

กิริยาในภาษาอังกฤษถูกแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ พวกที่ผันได้เวลาใช้ในรูปของช่องที่สองและสาม เช่น eat ate eaten ในขณะีที่อีกพวกใช้เติม -ed เอา เช่น help helped helped

นักคณิตศาสตร์ได้ศึกษาและพบว่า กิริยาที่ผันได้นั้น เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ผู้คนมักจะเปลี่ยนมาเติม -ed แทน โดยเฉพาะกิริยาที่ไม่ค่อยได้ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยนักคณิตศาสตร์ได้คำนวนครึ่งชีวิตของแต่ละกิริยาที่ผันได้ ซึ่งจะแสดงถึงจำนวนปีของครึ่งเวลาที่กิริยาดังกล่าวจะกลายไปเป็นกิริยาที่เติม -ed แทน

ยกตัวอย่างเช่น กิริยา have (รูปสองคือ had) จะใช้เวลาประมาณ 38,800 ปี ที่ผู้คนจะเปลี่ยนมาใช้ "haved" ในรูปช่องที่สอง ในขณะที่กิริยา hold (ช่องสองคือ held) ซึ่งถูกใช้ในชีวิตประจำวันน้อยกว่า have ประมาณ 10 เท่า จะใช้เวลาประมาณ 5,400 ปี ที่คนจะเปลี่ยนมาพูดว่า holded สำหรับช่องที่สอง

ที่มา นิตยสาร Discover

Wednesday, March 19, 2008

ไว้อาลัยแด่ เซอร์ อาเธอร์ ซี คลาร์ก นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่

เซอร์ อาเธอร์ ซี คลาร์ก (Sir Arthur Charles Clarke) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 หลังจากเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมานาน ผลงานของเขาที่เรารู้จักกันดีคือเรื่อง "2001: A Space Odyssey" อาเธอร์ ซี คลาร์ก ยังเป็นผู้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับระบบดาวเทียมที่เรียกว่า geostationary communications satellite ซึ่งปัจจุบันใช้ในการถ่ายทอดสัญญาณต่างๆ

ภาพจาก Wikipedia

Sunday, March 16, 2008

Claytronic

ลองจินตนาการถึงดินน้ำมัน ของเล่นของเด็กๆ ที่สามารถปั้นเป็นรูปร่างอะไรก็ได้ตามแต่ใจนึก แต่คราวนี้ มันสามารถก่อรูปร่างได้เอง โดยคำสั่งที่ส่งมาจากคอมพิวเตอร์ และยังสามารถเปลี่ยนสีตามแต่ใจปราราถนา

นักออกแบบผลิตภัณฑ์ สถาปนิก และวิศวะกร สามารถสร้างต้นแบบ (Prototype) ของชิ้นงาน โดยไม่ต้องมานั่ง เหลาไม้ ตัดกระดาษ หรือกึงเหล็กให้เสียเวลา เพียงแค่กดคำสั่งจากคอมพิวเตอร์ เท่านั้น หรือจะใช้มือเราไปช่วยปรับรายละเอียดทีหลังก็ยังได้

นึกถึงการประชุมข้ามประเทศ โดยที่ไม่ใช่แค่ ได้ยินเสียง และเห็นหน้า แต่สามารถเห็นคนเป็นรูปร่าง สามมิติที่สัมผัสได้

คุณสมบัติเหล่านี้ เป็นความสามารถของ ดิน ที่ถูกเรียกว่า Claytronics (อ่านว่า เครย-โทร-นิกส์) ซึ่งถ้าจะให้แปลเป็นภาษาไทยอย่างตรงๆ ก็คงแปลว่า “ดินน้ำมันไฟฟ้า” หรือ “ดินอิเล็กทรอนิกค์”

ปัจจุบัน Claytronics ยังเป็นแค่ความคิดเท่านั้นครับ แต่มหาวิทยาลัย คาร์นิกี เมลลอน (Carnegie Mellon University) ได้ร่วมมือกับ Intel เพื่อทำวิจัยและพัฒนา Claytronics ซึ่งถูกเรียกว่า “Claytronics Project”

Claytronics Project มีเป้าหมายเพื่อที่จะทำให้ข้อมูลดิจิตอล ปรากฏรูปร่างมาในโลกแห่งสามมิติ (3-D) ซึ่งต้องพัฒนาเทคโนโลยีสาขาต่างๆเข้าด้วยกันตั้งแต่ modular robotics, systems nanotechnology และ computer science

ก็คงต้องติดตามกันต่อไปครับว่าโครงการนี้จะสามารถทำฝันให้เป็นจริงได้เมื่อไหร่


วีดิโอแสดงตัวอย่างการทำงานของ Claytronics ในอนาคต ซึ่งถูกสร้างสรรค์โดย นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย คาร์นิกี เมลลอน

อ้างอิงจาก
http://www.cs.cmu.edu/~claytronics/index.html

Biodegradable mobile phone

Biodegradable mobile phone หรือ โทรศัพท์มือถือที่สามารถถูกย่อยสลายได้ในกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติ

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัสดุ(Materials expert) จากมหาวิทยาลัย วอร์ริก (Warwick University) ได้ ประดิษฐ์ กรอบของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถถูกย่อยสลายได้ในหนึ่งสัปดาห์ และกลายเป็นดอกไม้ภายหลัง

นักวิจัยได้ออกแบบให้ เมล็ดพันธุ์พืชถูกบรรจุไว้ในช่องโปร่งแสงบนกรอบมือถือ โดยที่ให้นักพฤกษศาสตร์ทางด้านพืชสวน (Horticulturist) ได้ทดสอบหาพันธุ์พืชที่เหมาะสมที่สุด [ในการเจริญหลังจากมือถือย่อยสลายแล้ว – by Drakong]


ต้นแบบ (Prototype) ของโทรศัพท์มือถือนี้ พบว่า ดอกทานตะวันแคระ (Dwarf sunflower) เป็นพันธุ์พืชที่เหมาะสม

ผลิตภัณฑ์นี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัทเทคโนโลยีทางด้านวัสดุ - PVAXX Research & Development Ltd of Cheltenham – กับ บริษัทเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสาร - Motorola


ที่มา BBC

Friday, March 7, 2008

ภาพจากแลป: โลกและดวงจันทร์ ถ่ายจากดาวอังคาร

โลกและดวงจันทร์ ภาพถ่ายจาก HiRISE camera บนดาวเทียวที่โคจรรอบดาวอังคาร
ภาพจาก NASA

Wednesday, March 5, 2008

ทดลองสาเหตุของรถติด "Backward travelling wave"



จากข่าวเก่าที่นักคณิตศาสตร์ได้นำเสนอแบบจำลองที่อธิบายสาเหตุของรถติด (อ่านข่าวเก่า คลิก) ที่เรียกว่า Backward travelling wave โดยหลักการคือ ทุกครั้งที่คุณหรือใครก็ตามเหยียบเบรก หรือชะลอความเร็ว จะส่งผลให้รถคันหลังคุณเบรกหรือชะลอความเร็วไปด้วย และผลดังกล่าวก็จะส่งต่อเป็นทอดๆไปจนถึงรถคันที่อยู่หลังคุณหลายกิโลเมตร

นักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นได้ทดสอบแนวคิดดังกล่าวและแสดงให้เห็นว่าเกิดขึ้นจริง โดยในการทดลองนี้ใช้รถ 22 คัน ให้คนขับวิ่งเป็นวงกลม โดยให้คนขับแต่ละคนพยายามบังคับรถที่ความเร็วคงที่ ที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การทดลองแสดงให้เห็นว่า เมื่อคนขับคนใดคนหนึ่งเริ่มขับด้วยความเร็วที่คลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยจาก 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะส่งผลกระทบต่อรถคันหลังๆ และก่อให้เกิดรถติดขึ้นมาในที่สุด

Tuesday, March 4, 2008

ปัญหาทางคณิตศาสตร์อายุ 140 ปี ถูกแก้แล้ว

Schwarz-Christoffel formula เป็นสูตรทางคณิตศาสตร์ในสาขา complex analysis ที่ใช้ในการแปลงรูปทรงเรขาคณิตให้อยู่ในรูปของวงกลมเืพื่อความง่ายในการศึกษา ทฤษฎีนี้ถูกประยุกต์ใช้งานในหลายสาขา ยกตัวอย่างเช่น การสร้างภาพจำลองของสมองที่มีความซับซ้อน อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีดังกล่าวยังมีข้อจำกัด เนื่องจากไม่สามารถใช้กับรูปทรงที่มีรู หรือรูปทรงที่ซับซ้อนมากได้

ล่าสุดนักคณิตศาสตร์จาก Imperial College London ได้แก้ปัญหาที่ไม่มีใครแก้ได้มา 140 ปีนี้จนสำเร็จแล้ว โดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีที่เรียกว่า Schottky Groups เพิ่มเข้าไปยังสูตรดั้งเดิมของ Schwarz-Christoffle formula จนได้สูตรใหม่ที่สามารถประยุกต์ใช้กับรูปทรงใดๆ ก็ได้

โปรเฟสเซอร์ Darren Crowdy เจ้าของผลงาน กล่าวว่าเขาได้ฟังปัญหานี้ขณะฟังการบรรยายอยู่ในปารีส แล้วก็เกิดอาการปิ๊งแว่บถึงวิธีการแก้ปัญหาขึ้นมาทันที เขาจึงลุกออกจากห้อง และเริ่มลงมือแก้ปัญหาดังกล่าว จนประสบความสำเร็จในที่สุด

ที่มา
Timesonline
EurekAlerts

Saturday, March 1, 2008

ชิ้นส่วนสุดท้ายของ Atlas Experiment ถูกประกอบแล้ว


จากข่าวเก่าที่นำเสนอการทดลองระดับโลกที่จะไขความลับของจักรวาล Atlas Experiment (อ่านข่าวเก่า คลิก) โครงการดังกล่าวมีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 กุมภาพันธ์ เวลาของสวิตเซอร์แลนด์) ทีมนักวิจัยได้ประกอบชิ้นส่วนสุดท้ายในส่วนของเครื่องตรวจจับอนุภาค ซึ่งทำให้เครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเครื่องนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยนักวิจัยจะเริ่มทดสอบระบบในเร็วๆนี้ ก่อนที่จะเริ่มทำการทดลองจริงประมาณกลางปีนี้ ซึ่งทางเราจะนำความคืบหน้ามานำเสนอต่อไป

ที่มา/ภาพ Atlas Experiment

TRIM22 ยีนต่อสู้ไวรัส HIV

Stephen Barr นักวิจัยจาก University of Alberta ค้นพบยีนที่ถูกเรียกว่า TRIM22 ซึ่งเป็นยีนปกติที่พบในมนุษย์ มีความสามารถในการป้องกันการพัฒนาของไวรัสเอดส์ในเซลล์เพาะเลี้ยง
ซึ่งหมายถึงว่า ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนและแพร่กระจายไปยังเซลล์อื่นๆ ได้ การค้นพบครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เนื่องจากแสดงให้เห็นว่า เซลล์มนุษย์มียีนธรรมชาติที่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสได้ การค้นพบนี้เมื่อรวมเข้ากับการใช้วัคซีนอาจจะสามารถใช้รักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ได้

ที่มา Physorg.com

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม รับนักศึกษาประจำปี 2551

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาัลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เปิดรับสมัครนักศึกษาใน
1. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาการหุ่นยนต์เเละระบบอัตโนมัติ(FRA)
2. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาความสามารถทางการเเข่งขันเชิงอุตสาหกรรม(GDIC)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่

Saturday, February 23, 2008

ถอดรหัสจักรวาลด้วย ATLAS Experiment



ATLAS Experiment คือการทดลองทางด้าน ฟิสิกส์อนุภาค (Particle Physics) ด้วยเครื่องเร่งอนุภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่นักฟิสิกส์เคยสร้างขึ้นมา เพื่อศึกษาอนุภาคพื้นฐานที่ประกอบขึ้นเป็นจักรวาลและรวมถึงตัวเรา เครื่องเร่งอนุภาคดังกล่าวเมื่อสร้างเสร็จ จะประกอบด้วยอุโมงค์ที่ใช้เร่งอนุภาคที่มีความยาวถึง 27 กิโลเมตร (วางตัวเป็นวงกลมกินพื้นที่ทั้งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส-ดูภาพด้านบน) มีนักฟิสิกส์มากถึง 2,100 คนที่ทำงานอยู่ในโปรเจคนี้

หากเราย้อนกลับไปทบทวนความรู้สมัยม.ปลาย เราจะอาจเคยเข้าใจว่าอนุภาคพื้นฐานที่ประกอบขึ้นเป็นสสารต่างๆ คือ โปรตรอน นิวตรอน และอิเลกตรอน อย่างไรก็ตาม เมื่อความรู้ทางฟิสิกส์ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ นักฟิสิกส์พบว่ายังมีอนุภาคพื้นฐานที่ย่อยลงไปอีกหลายชนิด อนุภาคเหล่านี้บางตัวค้นพบหลังจากมีการทำนายถึงการมีอยู่เป็นเวลาหลายสิบปี บางตัวยังไม่สามารถค้นพบได้ด้วยเครื่องมือปัจจุบัน Atlas Experiment จึงเกิดขึ้นเพื่อค้นหาและศึกษาอนุภาคเหล่านี้ ซึ่งอาจจะทำให้เราเข้าใจโครงสร้างของจักรวาลได้ดียิ่งขึ้น

หลักการของเครื่องเร่งอนุภาคคือ อนุภาคจะถูกปล่อยออกจากต้นกำเนิดให้วิ่งออกไปตามท่อในอุโมงค์ทั้งสองด้านของเส้นรอบวงวงกลม อนุภาคจะถูกเร่งจนถึงความเร็วเกือบเท่าแสง ก่อนไปชนกันที่เครื่องตรวจวัด ขณะที่อนุภาคชนกัน พลังงานของอนุภาคจะถูกเปลี่ยนเป็นมวล ซึ่งก่อให้เกิดอนุภาคอื่นๆ อนุภาคเหล่านี้อาจจะไม่เสถียรและเปลี่ยนไปเป็นอนุภาคอื่นภายในเสี้ยวของเสี้ยวของเสี้ยววินาที แต่นั่นก็เพียงพอที่จะพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของมัน รวมทั้งเพียงพอที่นักฟิสิกส์จะศึกษาคุณสมบัติของมัน

การทดลองนี้จะเริ่มต้นในกลางปีนี้ (2551) exscinet จะนำความคืบหน้ามาเสนอในโอกาสต่อไป

ที่มา ATLAS.ch

Friday, February 22, 2008

รู้หรือไม่: จีโนมมนุษย์

1) จีโนมคือชุดรหัสที่ใช้สำหรับสร้างมนุษย์ทั้งคนขึ้นมา
2) ชุดรหัสดังกล่าวประกอบด้วยหน่วยพื้นฐาน ซึ่งก็คือ นิวคลีโอไทด์ 4 ชนิด แทนด้วยตัวอักษร A T C และ G
3) ลำดับการเรียงของตัวอักษร 4 ตัวนี้ (เช่น ATCCTGGC...) จะเป็นตัวกำหนดการสร้างโปรตีน การเรียงของรหัสที่ต่างกัน
สร้างโปรตีนต่างชนิดกัน
4) จีโนมมนุษย์ประกอบด้วยรหัส 3 พันล้้านตัวอักษร (3,000,000,000)
5) หากนำเอารหัสทั้งชุดของจีโนมมนุษย์มาเขียนลงสมุดโทรศัพท์ความหนา 500 หน้า จะต้องใช้สมุดโทรศัพท์ทั้งหมด 200 เล่ม
6) ความแตกต่างของมนุษย์แต่ละคน (สีผิว ความสูง หน้าตา) เกิดจากความแตกต่างของรหัสในจีโนมเพียงแค่ 0.2% เท่านั้น อีก
99.8% ของจีโนมจะเหมือนกันหมดในมนุษย์ทุกคน
7) 98% ของจีโนมมนุษย์ เหมือนกับ จีโนมของลิงชิมแปนซี (เพียงแค่ 2% ที่กำหนดว่าเราเป็นคนหรือลิง!!!)
8) 97% ของจีโนมมนุษย์ ที่เรายังไม่รู้หน้าที่ของมัน

Thursday, February 14, 2008

ภาพจากแลป: ปัญญาลิง

ลิงตัวนี้พยายามที่จะหยิบถั่วจากหลอดแก้วที่เอามือล้วงลงไปไม่ได้ เป็นคุณจะแก้ปัญหาอย่างไร???
วีดีโอการศึกษาพฤติกรรมการแก้ปัญหาของลิงชิมแปนซี (สิ่งมีชีวิตที่ถูกเชื่อว่าฉลาดทีุ่สุดรองจากมนุษย์) โดยนักวิจัยจาก Max Planck Institute ประเทศเยอรมันนี

Wednesday, February 13, 2008

วิศวกรรมย้อนรอยสร้างสินค้าใหม่

สกว.ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการเสนอผู้ประกอบการและนักวิชาการ ใช้วิศวกรรมย้อนรอยเป็นต้นแบบงานวิจัยและพัฒนา ช่วยต่อยอดผลิตภัณฑ์แบบก้าวกระโดดไม่ต้องนับหนึ่งใหม่

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเวทีสัมมนาเสนอให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการจากภาคธุรกิจใช้วิศวกรรมย้อนรอยเป็นทางลัดสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ "การนำวิศวกรรมย้อนรอยมาใช้ในกระบวนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในไทยจะช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาการวิจัยให้ก้าวกระโดดทันต่างประเทศ" นักวิชาการประจำสกว. กล่าว

วิศวกรรมย้อนรอยเป็นการศึกษาโครงสร้างของผลิตภัณฑ์ให้รู้ถึงความสามารถ และการทำงานของชิ้นส่วนประกอบแต่ละชิ้น เพื่อนำมาดัดแปลงเพิ่มในส่วนที่ยังขาด สำหรับพัฒนาสินค้าอย่างก้าวกระโดด และยังสามารถส่งผลิตภัณฑ์เพื่อการแข่งขันในตลาดโลก รวมทั้งการจดสิทธิบัตรครอบครองเป็นเจ้าของได้ด้วย

ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สกว.อธิบายว่า ผู้ประกอบการไทยมักเข้าใจผิดว่าวิศวกรรมย้อนรอยเป็นการลอกเลียนแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ การสัมมนาครั้งนี้จึงจัดขึ้นเพื่อชี้แจงความหมายและแนะแนวทางการนำวิศวกรรมย้อนรอยสำหรับนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสินค้าของไทยในอนาคตด้วยการนำผลงานสิทธิบัตรมาต่อยอด

ประเทศที่เป็นผู้นำด้านวิศวกรรมย้อนรอยจนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ญี่ปุ่นและเกาหลี จนสามารถผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้า เสื้อผ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้ไม่แพ้ประเทศผู้นำอย่างสหรัฐ เยอรมนี หรือฝรั่งเศส

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 http://www.bangkokbiznews.com/2008/02/11/WW54_5401_news.php?newsid=227715

Tuesday, February 12, 2008

วิจัยเซลล์สมองบนแผ่นชิพ (Chip)


Lab-on-a-chip คือ แผ่นชิพขนาดเล็ก ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในงานวิจัยที่ทำการทดลองบนแผ่นชิพ จุดเด่นจุดหนึ่งของแผ่นชิพดังกล่าว คือการที่นักวิจัยสามารถควบคุมทิศทางและปริมาณของของเหลวปริมาณน้อยๆ ที่นักวิจัยสนใจศึกษา ให้ไหลไปบนแผ่นชิพได้

นักวิจัยจาก Johns Hopkins Whiting School of Engineering และ the Institute for NanoBioTechnology ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกแบบแผ่นชิพเพื่อทำการศึกษาการตอบสนองของเซลล์สมองต่อฮอร์โมนหรือสารเคมีต่างๆ
โดยเซลล์สมองหนึ่งเซลล์จะถูกเลี้ยงบนแผ่นชิพดังกล่าว หลังจากกนั้นนักวิจัยก็จะควบคุมให้สารที่ต้องการจะศึกษาไหลเข้าไปยังเซลล์สมอง เพื่อศึกษาว่า เซลล์สมองมีการตอบสนองอย่างไรบ้าง
ในเบื้องต้นทีมวิจัยพบว่า หากบังคับให้สารกระตุ้นการเจริญเติบโตหรือ Growth signal ไหลอยู่รอบเซลล์ เซลล์สมองจะเจริญเติบโตไปยังด้านที่มีความเข้มข้นสูงสุด แต่หากความเข้มข้นของสารมีค่าเท่ากันทุกด้าน เซลล์สมองจะเจริญเติบโตไปในทิศทางอย่างสุ่ม

ทีมนักวิจัยยังมีแผนการที่จะทดสอบสารอีกหลายชนิด รวมถึงการผสมสารหลายชนิดเข้าด้วยกัน เพื่อจำลองสภาพแวดล้อมจริงของเซลล์สมอง เพื่อศึกษาพฤติกรรมอื่นๆของเซลล์สมองต่อไป

ที่มา PhysOrg.com
ภาพจาก Wikipedia

Wednesday, February 6, 2008

เขย่าไวรัสให้ตาย

งานวิจัยเมื่อไม่นานนี้แสดงให้เห็นว่า เลเซอร์ที่คลื่นความถี่ที่จำเพาะสามารถฆ่าไวรัสบางชนิดได้ วัตถุทุกชนิดจะมีค่าความถี่จำเพาะช่วงหนึ่งที่ทำให้เกิดการสั่นของวัตถุที่แอมพลิจูดสูงสุด ความถี่ที่อยู่ในช่วงที่เหมาะสมสามารถทำให้วัตถุเกิดการสั่นอย่างรุนแรงและสร้างความเสียหายได้ ไวรัสก็เปรียบเสมือนก้อนวัตถุก้อนหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยโมเลกุลที่เรียงตัวกันเป็นเปลือกห่อหุ้มสารพันธุกรรมไว้ ทีมนักวิจัยจาก Arizona State University ได้ทดลองสร้างโมเดลเพื่อศึกษาการสั่นของอะตอมทุกอะตอมของไวรัสที่ชื่อว่า satellite tobacco necrosis virus เพื่อศึกษาหาค่าความถื่ที่จะสามารถสร้างผลเสียหายสูงสุดให้กับไวรัส ในขั้นต้น ทีมนักวิจัยหวังว่าจะสามารถใช้เลเซอร์ที่ความถี่ดังกล่าวยิงไปที่ไวรัสเพื่อเขย่าให้เกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตามเลเซอร์นั้นไม่สามารถยิงผ่านทะลุชั้นผิวหนังเข้าไปฆ่าไวรัสที่อยู่ภายในร่างกายได้ ในขั้นถัดไป ทีมวิจัยจึงจะพยายามศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้คลื่นอุลตร้าไวโอเลตแทน ข้อดีของการใช้คลื่นความถี่เพื่อฆ่าไวรัสก็คือ ไวรัสจะไม่เกิดการกลายพันธุ์และดื้อยาแบบที่เกิดขึ้นกับการใช้ยาฆ่าไวรัส

ที่มา/ภาพ LiveScience

Sunday, February 3, 2008

Nano-Bio Battery

ในปัจจุบันยังไม่มีคำตอบของคำถามว่า จะสร้าง นาโนแบตเตอรี่ (Nanobattery) ที่ดีได้อย่างไร ปัญหาหลักของการสร้างนาโนแบตเตอรี่คือ การจัดเรียงแบตเตอรี่ที่มีขนาดเล็กมากเข้าด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม นาซ่า (NASA) ได้กล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติในการนำพาประจุบวกและลบของโปรตีนที่ถูกเรียกว่า เฟอร์ริติน (Ferritin)



Ferritin สามารถจัดเรียงตัวของมันเอง (Self-assemble) ไปเป็นแผ่นชั้นระดับนาโน (Nanolayer) ได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น ถ้าสร้างชั้นของ ferritin ขึ้นมาก่อนชั้นหนึ่ง หลังจากนั้นสร้างอีกชั้นหนึ่งที่มีประจุตรงข้ามกับชั้นแรก ทับลงไปบนชั้นแรก ผลก็คือแผ่น ferritin ที่มีความหนาเพียงไม่กี่นาโนเมตรซึ่งสามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้ หรือก็คือ แบตเตอรี่นั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น การเพิ่มจำนานชั้นของ ferritin จะยิ่งเพิ่มความสารถในการเก็บประจุมากขึ้นด้วย นาซ่ายังอ้างอีกด้วยว่าการสร้างนาโนแบตเตอรี่ชนิดนี้ไม่เพียงแต่คงทนและมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่สามารถผลิตได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายอีกด้วย

[หมายเหตุ by Drakong: นาโนแบตเตอรี่ คือแบตเตอรี่ที่สร้างโดยใช้เทคโนโลยีด้านนาโนเทค หลักการก็คือการสร้างเซลล์แบตเตอรี่ที่มีขนาดเล็กมากๆ ระดับนาโน(หนึ่งส่วนพันล้านเมตร)
ขอยกตัวอย่างสมมุติง่ายๆเช่น แบตเตอร์รี่ทั่วไปมีเซลล์แบตเตอร์รี่อยู่ 100 เซลล์ แต่ถ้าเป็นนาโนแบตเตอรี่อาจจะมีเซลล์แบตเตอรี่อยู่ถึง 1ล้านเซลล์ ซึ่งหมายความว่ามันสามารถจุไฟได้มากกว่าถึงหมื่นเท่า ]

ที่มา NewSciencist

Friday, February 1, 2008

สเปิร์มจากเพศหญิง???

Prof. Karim Nayernia นักวิทยาศาสตร์จาก Newcastle University ประเทศอังกฤษ ได้เปิดเผยโปรเจคใหม่ที่เขากำลังจะศึกษา โปรเจคดังกล่าวเป็นความพยายาม ผลิตสเปิร์มจากสเตมเซลล์ของเพศหญิง โดยเมื่อปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ท่่านนี้ได้ประสบความสำเร็จในการผลิตสเปิร์มจากสเตมเซลล์ของผู้ชาย ทำให้เขาหวังจะใช้เทคนิคดังกล่าวกับสเตมเซลล์จากผู้หญิงดูบ้าง อย่างไรก็ตาม โปรเจคใหม่นี้ียังมีความเป็นไปไม่ได้ในเชิงทฤษฎีอยู่ เนื่องจากเพศชายและเพศหญิงนั้นต่างกันที่โครโมโซมเพศ โดยเพศหญิงมีโครโมโซมคู่นี้เป็นชนิด X กับ X ส่วนเพศชายจะมีโครโมโซมเป็น X กับ Y ซึ่งกระบวนในการผลิตสเปิร์มนั้นจำเป็นจะ้ต้องอาศัยการทำงานของยีนบางยีนบนโครโมโซม Y ซึ่งสเตมเซลล์จากเพศหญิงไม่มีโครโมโซมดังกล่าว

หากสามารถผ่านอุปสรรคนี้ไปได้ Prof. Karim Nayernia หวังว่าอีกหน่อย เลสเบี้ยนอาจจะสามารถมีลูกที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของผู้หญิงทั้งสองฝ่ายได้ โดยผลิตสเปิร์มจากสเตมเซลล์ของคนหนึ่งและไปผสมกับไข่ของอีกคนหนึ่ง

ที่มา Telegraph.co.uk
ภาพ Scienceagogo.com

พลังงานจากแบคทีเรีย???

Thomas Wood นักวิทยาศาสตร์จาก Texas A&M University สหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาสายพันธุ์ของแบคทีเรีย E. coli ที่สามารถผลิต ไฮโดรเจน มากกว่าสายพันธุ์ปกติถึง 140 เท่า เป็นความหวังใหม่สำหรับการผลิตพลังงานด้วยเทคโนโลยี Fuel-cell ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก การผลิตไฮโดรเจนในปัจจุบันใช้วิธีการแยกไฮโดรเจนออกมาจากน้ำเป็นหลักซึ่งมีต้นทุนสูงมาก อีกหน่อยเราอาจจะต้องพึ่งพาพลังงานที่ได้มาจากแบคทีเรียแทน

ที่มา EurekAlert

Tuesday, January 29, 2008

วิทย์+ศิลป์ ในตารางธาตุ

ตารางธาตุอันแสนน่าเบื่อที่เราต้องท่องจำในวิชาเคมี ได้ถูกศิลปิน 96 คนจาก 8 ประเทศ ออกแบบภาพศิลป์ให้แต่ละธาตุบนตาราง ในรูปแบบของภาพพิมพ์ จนได้ตารางธาตุอันสวยงามที่ผสมผสานความเป็นวิทย์และศิลป์เข้าด้วยกัน

คลิกลิงค์
http://azuregrackle.com/periodictable/table/
เพื่อเข้าไปดูคำอธิบายของแต่ละธาตุและภาพศิลป์

ที่มา/ภาพ
AzureGrackle
Neatorama

Saturday, January 26, 2008

หุ่นยนต์บอกทาง


Advanced Telecommunications Research Institute (ATR) ประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดตัวหุ่นยนต์บอกทาง ที่จะปรี่เข้ามาหาคุณทันทีเมื่อมันรู้ว่าคุณกำลังหลง หุ่นยนต์ที่ถูกทดสอบการใช้งานในห้างแห่งหนึ่ง ทำงานร่วมกับกล้องวีดีโอ 16 ตัว เครื่องจับระยะด้วยเลเซอร์ 6 ตัว และตัวจับสัญญาณวิทยุอีก 9 ตัว ที่ติดตั้งในพื้นที่ 100 ตารางเมตรของห้าง ทำให้หุ่นยนต์สามารถติดตามพฤติกรรมของนักช้อปที่เดินอยู่ในบริเวณดังกล่าวพร้อมกันถึง 20 คน โดยหุ่นยนต์จะวิเคราะห์พฤติกรรมต่างๆ ของนักช้อป เช่น ยืนรอ เดินแบบไร้ทิศทาง ฯลฯ หากหุ่นยนต์แปลพฤติกรรมดังกล่าวว่า คุณกำลังหลงทาง มันก็จะวิ่งเข้ามาถามทันทีว่า "คุณหลงทางหรือเปล่า" หากใช่ มันก็จะแนะนำทางให้คุณ หากคุณบอกว่าเปล่า มันก็จะแนะนำร้านสินค้าหรือร้านอาหารให้คุณ เป็นหุ่นยนต์ที่มีประโยชน์ทีเดียว แต่ก็แอบอายหน่อยๆ หากโดนเจ้าตัวนี้วิ่งปรี่เข้ามาถาม คนอื่นเค้ารู้หมดว่าเราเป็นบ้านนอกเข้ากรุง (ฮา)

ที่มา Pink Tentacle
ภาพจาก Robowatch

สิ่งมีชีวิตสังเคราะห์ด้วยมือมนุษย์

Hamilton Smith และทีมนักวิจัยจาก Craig Venter Institute ผู้กำลังพยายามสร้างสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์ ได้ออกมาประกาศความคืบหน้าของโครงการ โดยล่าสุดทีมนักวิจัยได้สังเคราะห์รหัสพันธุกรรมของแบคทีเรียที่ชื่อว่า Mycoplasma genitalium เสร็จสมบูรณ์แล้ว รหัสพันธุกรรมของแบคทีเรียดังกล่าวประกอบไปด้วยนิวคลีโอไทด์ (หน่วยพื้นฐานของรหัสพันธุกรรม) ทั้งสิ้น 582,970 หน่วย ทำให้รหัสพันธุกรรมสังเคราะห์ด้วยน้ำมือมนุษย์นี้มีความยาวถึงสิบเท่าของรหัสพันธุกรรมที่ยาวที่สุดที่มนุษย์เคย
สังเคราะห์์ขึ้นก่อนหน้านี้

ในขั้นตอนต่อไปทีมนักวิจัยจะนำชุดรหัสพันธุกรรมนี้ใ่่ส่เข้าไปในเซลล์ เพื่อทดสอบดูว่า จะสามารถชักนำให้เซลล์ทำงานได้หรือไม่ โดยหากนักวิจัยส่งชุดรหัสพันธุกรรมสังเคราะห์นี้เข้าไปแทนที่ชุดรหัสพันธุกรรมของแบคทีเรียชนิดอื่น แล้วสามารถเหนี่ยวนำให้แบคทีเรียดังกล่าวเกิดการเปลี่ยนสปีชีส์มาเป็นแบคทีเรีย Mycoplasma genitalium ได้ ก็จะถือว่าพวกเขาสามารถสร้างสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์ตัวแรกของโลกทันที

ที่มา nature.com

Thursday, January 17, 2008

สัตว์โคลนนิ่ง ปลอดภัย และกินได้


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม 2008 ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐได้ออกมาประกาศว่า FDA (องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา) ได้รับรองสัตว์โคลนนิ่ง มีคุณค่าทางโภชนาการ และความปลอดภัย ไม่ต่างจากสัตว์ธรรมดา ดังนั้น FDA จึงอนุญาตให้มีการซื้อขายสัตว์โคลนนิ่งได้ โดยไม่จำเป็นต้องติดฉลากพิเศษระบุว่าเป็นสัตว์โคลนนิ่ง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2001 FDA ได้ระงับ และเลื่อนการซื้อขายเนื้อและนมที่ได้จากสัตว์โคลนนิ่ง และใช้เวลาศึกษาถึงความปลอดภัยกินเวลานาน กว่า 5 ปี จนได้รายงานผลการวิจัยมามากกว่า 300 หน้า

"ไม่มีผลศึกษาใดระบุเลยว่า คุณค่าทางโภชนาการ และความเป็นพิษ ระหว่างสัตว์ธรรมดาและสัตว์โคลนนิ่ง มีความแตกต่างกัน" ประโยคหนึ่งในงานวิจัย ซึ่งถูกตีพิมพ์ ในวารสาร Theriogenology ณ วันที่ 1 มกราคม 2008

ที่มา USATODAY

Tuesday, January 15, 2008

สร้างเนื้อเยื่อหัวใจใหม่ ให้หัวใจกลับมาเต้นได้

นักวิจัยจาก University of Minnesota ประเทศสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการสร้างเนื้อเยื่อหัวใจใหม่และทำให้หัวใจกลับมาเต้นได้ ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Decellularisation โดยผ่าเอาหัวใจจากหนูที่เพิ่งตายใหม่ๆ มาแขวนไว้ในหลอดทดลอง แล้วผ่านกระบวนการเพื่อฆ่าเซลล์ทั้งหมดภายในหัวใจ แล้วล้างออกให้เหลือไว้เพียงโครงร่างของหัวใจ เช่น ห้องหัวใจ ลิ้นปิดห้องหัวใจ และโครงร่างของเส้นเลือด หลังจากนั้นจึงฉีดเซลล์หัวใจจากหนูเกิดใหม่เข้าไปยังโครงร่างหัวใจที่ว่างอยู่ แล้วเลี้ยงเซลล์ด้วยอาหารเลี้ยงเซลล์เพื่อให้เซลล์หัวใจใหม่เจริญเติบโต และกลับมาทำให้หัวใจเต้นอีกครั้ง หลังจากเลี้ยงไปประมาณ 4 วัน นักวิจัยกล่าวว่าเทคนิคนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอวัยวะใดๆ ก็ได้ ซึ่งจะมีประโยชน์หากนำเทคนิคดังกล่าวไปใช้ในกระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อทำให้อวัยวะที่ปลูกเข้า
ไปใหม่กลับมาทำงานอีกครั้ง

ดูวีดีโอสาธิตขั้นตอนต่างๆ ที่ Startribune.com

ที่มาและรูป UMN News

Monday, January 14, 2008

ไอเดียสุดเก๋ "เชคแฮนด์" แทนแลกนามบัตร

ไอเดียสุดเก๋ที่ชนะการประกวด Red dot award: design concept 2007 Designers เป็นผลงานของ Hideaki Matsui, Dong Ho Yun และ Jea Wan Park กับแนวคิด "การแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวด้วยการจับมือ" โดยให้ใส่แหวนที่สามารถเก็บข้อมูลส่วนตัว เช่น รูป ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร หรืออีเมลล์ เมื่อคนสองคนที่ใส่แหวนดังกล่าวทักทายกันด้วยการจับมือ หรือ เชคแฮนด์ ข้อมูลส่วนตัวของทั้งสองฝ่ายก็จะแลกเปลี่ยนกันเมื่อแหวนสัมผัสกัน ซึ่งเราสามารถที่จะดึงข้อมูลของคนที่เราพบออกมาจากแหวนเพื่อดูในภายหลังได้ ไม่ต้องเสียเวลาหยิบนามบัตรมาแลกกัน ทีนี้ไปร่วมงานสังคมที่ต้องพบคนใหม่ๆมากมาย ก็ไล่จับมือไปทีละคนได้เลย ของคนไทยเป็นยกมือไหว้กันจะแลกเปลี่ยนข้อมูลกันยังไงดี ใครช่วยออกแบบหน่อย

ที่มา Red dot

Friday, January 11, 2008

สองหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว Wikia Search Engine เชื่อในปัญญาร่วม

หากเรานำหมูหนึ่งก้อนเดินตระเวณไปทั่วตลาด แล้วให้พ่อค้าแม่ค้าหมูเดาว่า หมูก้อนดังกล่าวหนักเท่าไหร่ ค่าเฉลี่ยของน้ำหนักที่ได้จากคำตอบของพ่อค้าแม่ค้าทุกคน มักจะแม่นยำและใกล้เคียงกับน้ำหนักจริงของเนื้อหมูมากกว่าคำตอบของพ่อค้าหรือแม่ค้าคนใดคนหนึ่ง ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก คำตอบของคนที่เดาน้ำหนักมากเกินไปจะถูกถัวเฉลี่ยไปด้วยคำตอบของคนที่เดาน้ำหนักต่ำเกินไป ความรู้ที่ได้มาในลักษณะนี้เรียกว่า "ปัญญาร่วม" (Crowd wisdom หรือ Collective Wisdom)

ด้วยความเชื่อในปัญญาร่วม Jimmy Wales ผู้ก่อตั้งสารานุกรมออนไลน์ Wikipedia จึงได้ใช้หลักการดังกล่าว จนเวปสารานุกรมออนไลน์แห่งนี้กลายเป็นที่นิยมสูง ด้วยการให้ผู้ใช้งานสามารถช่วยกันเขียนและแก้ไขบทความต่างๆ จนได้บทความที่เกิดจากปัญญาร่วมนั่นเอง

ล่าสุด Jimmy Wales ยังได้เปิดตัวเวปค้นหา หรือ Search Engine ตัวใหม่ที่ใช้แนวคิดเดิม โดยให้ผู้ใช้ Search Engine ช่วยกันแก้ผลการค้นหากันเอง โดยแรกเริ่มจะให้ผู้ใช้ให้ความเห็นกับเวปต่างๆ ที่แสดงขึ้นมาจากผลค้นหา ซึ่งความเห็นต่างๆ ก็จะถูกนำไปใช้จัดลำดับผลการค้นหาในภายหลัง
ขณะนี้เวป Wikia Search Engine ยังเป็นเพียงเวอชั่นแอลฟาเท่านั้น

ลิงค์ Wikia Search Engine

Wednesday, January 9, 2008

ชุดทรงพลัง

นักวิจัยจาก Tokyo University of Agriculture and Technology ประเทศญี่ปุ่น ได้พัฒนาชุดเสริมแรงสำหรับเกษตรกรขึ้นมา เพื่อช่วยให้เกษตรออกกำลังได้อย่างสบายยิ่งขึ้น โดยเจ้าชุดดังกล่าวจะตรวจจับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อของผู้ใช้ และสั่งการให้มอเตอร์ที่ติดอยู่ตามจุดต่างๆ (เช่น แขน ไหล่ เข่า) ทำงานเพื่อช่วยผ่อนกำลังของผู้ใช้ โดยนักวิจัยได้ทดลองใช้ชุดดังกล่าวยกน้ำหนัก 20 กิโลกรัมได้อย่างสบายๆ แถมชุดดังกล่า่่วยังช่วยลดอาการเมื่อยล้าจากการออกแรงนานๆได้เป็นอย่างดี

ที่มา Pink Tentacle

นักวิจัยชี้ สมองเราเป็นนักเิดินทางข้ามเวลา

การสแกนสมองส่วนต่างๆ เพื่อดูว่าสมองส่วนไหนกำลังทำงานอยู่ ทำให้นักวิจัยสามารถศึกษาได้ว่าเวลาเราทำกิจกรรมต่างๆกัน สมองส่วนไหนที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่าสมองส่วนหนึ่งทำงานเฉพาะตอนที่เรา "ไม่ทำอะไร" จึงมีคำถามเิกิดขึ้้นว่า ขณะที่เราไม่ทำอะไร เราทำอะไร (อย่าเพิ่งงครับ)

ล่าสุดนักวิจัยได้เสนอว่า ขณะที่เราไม่ทำอะไร สมองกำลังเดินทางข้ามเวลา โดยการย้อนกลับไปคิดทบทวนเรื่องราวต่างๆ ในอดีตที่เก็บอยู่ในสมอง (ความทรงจำของเรา) หรือแม้กระทั่งเดินทางไปยังอนาคตด้วยการทำนายสิ่งต่างๆ จากข้อมูลที่สมองมีอยู่ ขณะที่เราตั้งใจทำอะไรบางอย่าง (อ่านหนังสือ คิดเลข ดูทีวี) เราจะมีสมาธิอยู่กับ "ปัจจุบัน" และสมองส่วนที่รับผิดชอบในกิจกรรมนั้นๆ ก็จะทำงาน แต่ในขณะที่เรา "ไม่ทำอะไร" เราก็จะเริ่มทบทวนเรื่องในอดีต คาดเดาเรื่องในอนาคต และสมองส่วนที่ไม่ทำอะไร ตอนเราทำอย่างอื่น ก็จะเริ่มทำงาน โรคอัลไซเมอร์เป็นตัวอย่างหนึ่งของความผิดปกติในการทำงานของสมองส่วนนี้ ทำให้ผู้ป่วยติดอยู่กับปัจจุบัน และไม่สามารถใช้สมองย้อนไปในอดีตหรือคาดการณ์อนาคตได้

คำถามต่อมาคือ เราทำอย่างนั้นเพื่ออะไร นักวิจัยได้ชี้ประโยชน์ของการทบทวนเรื่องในอดีตว่า เป็นการช่วยให้เราเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น โดยการ "รีเพลย์" เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น วิเคราะห์และเรียนรู้ ซ้ำไปซ้ำมา โดยไม่ต้องไปเจอเหตุการณ์นั้นอีกในชีวิตจริง นอกจากนี้การเอาเหตุการณ์ในอดีตหลายๆ เหตุการณ์มาวิเคราะห์ร่วมกัน ยังทำให้เราคาดเดาอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย

ที่มา TIME.com

Monday, January 7, 2008

นาฬิกาสำหรับคนชอบคณิตศาสตร์

นาฬิกาสุดแนวออกแบบโดย Triple Nine Society สำหรับคนที่ชื่นชอบคณิตศาสตร์โดยเฉพาะ โดยตัวเลขบนหน้าปัดล้วนแล้วประกอบด้วยเลขเก้าทั้งสิ้น ตัวเลขที่น่าสนใจที่สุดคือ ตัวเลขบอกเวลาเจ็ดโมงครับ ซึ่งคำนวณแล้วจะได้เลข 6.999... ไม่รู้จบ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเท่ากับ 7 เพราะ 0.999... = 1 ครับ

ให้ X = 0.999...
10X = 9.999...
ลบบรรทัดสองด้วยบรรทัดแรก
9X = 9
ดังนั้น X = 1 = 0.999...

ที่มา News.com

Robo Fight: จากเรื่องราวแห่งจินตนาการบนกระดาษ สู่ความเป็นจริง

ประมาณ 30 ปี ที่แล้ว หรือ ในช่วงยุค 70 มีการ์ตูนเรื่องหนึ่ง ที่ได้กล่าวถึงการต่อสู้แข่งขัน ระหว่างหุ่นยนต์ โดยตัวเอกของเรื่องได้พัฒนาหุ่นยนต์ของตัวเองขึ้นมา ซึ่งใช้วิชาคาราเต้ ในการต่อสู้กับหุ่นยนต์คู่แข่ง สำหรับผู้ที่เกิดในยุค 60-80 น่าจะจำกันได้ ใช่แล้วครับ เรื่องนี้คือเรื่อง “จูโอมารู นักสู้คอมพิวเตอร์”


จากวันนั้น ผ่านมาประมาณ 30 ปี จนถึงวันนี้ จูโอมารู บนผืนกระดาษ เริ่มที่จะปรากฏเค้าลางให้เห็นในชีวิตของเราจริงๆแล้ว

ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา ได้มีการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า ROBO-ONE โดยหุ่นยนต์ที่เข้าร่วมการแข่งขันนี้ ไม่ใช้หุ่นยนต์ลักษณะ เคลื่อนที่ด้วยล้อ และมีแขนกลในการหยิบจับของ หรือทำหน้าที่อื่นๆ ตามที่เห็น ในการแข่งขันบ้านเรา แต่เป็นหุนต์ยนต์ที่เดินด้วยขา 2 ขา และลักษณะคล้ายคน (Bipedal Humanoid Robot)

ในการแข่งขัน ได้แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ซึ่งแน่นอน มีการแข่งขันต่อสู้ระหว่างหุ่นยนต์เหมือนในการ์ตูนด้วยเช่นกัน



ส่วนใน อเมริกา ได้มีการจัดการแข่งขันเช่นเดียวกัน แต่เริ่มตั้งแต่ปี 2004 และใช้ชื่อว่า ROBOGAMES



แม้ว่า หุ่นยนต์ต่อสู้ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถ กระโดดเตะต่อย ได้เหมือนในการ์ตูนก็ตามที แต่ผมเชื่อว่า อีกไม่กี่ปีเราคงได้เห็น จูโอมารู หรือ กันดั้ม ออกมาจาก การ์ตูนแน่ๆ


อ้างอิงจาก

Saturday, January 5, 2008

นักวิจัยค้นพบฮอร์โมนที่ทำให้ไม่หลับ

นักวิจัยจาก Defense Advanced Research Projects Agency (DARPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานวิจัยเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีของกองทัพสหรัฐ ได้คิดค้นสเปรย์ที่เมื่อพ่นเข้าทางจมูกของคนที่กำัลังง่วงนอน จะทำให้คนๆนั้น ตื่นขึ้นมาอย่างกระชุ่มชวยทันที สเปรย์ดังกล่าวมีส่วนประกอบของสาร orexin A ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สมองมนุษย์ผลิตขึ้นตามธรรมชาติ จากการทดลองบังคับให้ลิงอดหลับอดนอนเป็นเวลา 30 ถึง 36 ชั่วโมง แล้วพ่นเสปรย์ดังกล่าวให้นั้น พบว่าลิงกลุ่มดังกล่า่วกลับมาเหมือนลิงปกติที่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ และยังไม่พบผลข้างเคียงใดๆ จากการใช้สารดังกล่าว นักวิัจัยคาดว่าสเปรย์ดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้กับทหารที่อยู่ในสนามรบ เพื่อกระตุ้นให้ทหารตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา

ที่มา The Daily Galaxy

Friday, January 4, 2008

ชม 7 หนังไซไฟจากยุโรปที่ม.ธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอภาพยนตร์วิทยาศาสตร์จำนวน 7 เรื่อง ฉายทุกวันอาทิตย์ ตลอดเดือนมกราคมนี้ ณ ห้องสมุดเรวัติ พุทธินันท์ ชั้นยู 2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เริ่มฉายเรื่องแรก อาทิตย์ที่ 6 ม.ค. เวลา 12:30 น. โดยภาพยนต์ทั้งเจ็ดเรื่องล้วนเป็นหนังไซไฟที่หาดูได้ยากจากประเทศยุโรป ดูรายละเอียดของภาพยนตร์และวันเวลาที่ฉายของหนังทั้งเ็จ็ดเรื่องที่เวปไซด์สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คลิกที่นี่

ที่มา เมเนเจอร์ออนไลน์
รายละเอียดเพิ่มเติม เวปไซด์สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Thursday, January 3, 2008

แนวคิดใหม่ ไดโนเสาร์สูญพันธุ์เพราะแมลง

การชนของอุกกาบาตและภูเขาไฟระเบิดมักถูกใช้อธิบายการลดลงอย่างรวดเร็วของจำนวนไดโนเสาร์
จนนำมาซึ่งการสูญพันธุ์ อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวไม่สามารถอธิบายการลดลงของจำนวนไดโนเสาร์อย่างช้าๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เรียกว่า "K-T boundary" ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างยุค Cretaceous และ Tertiary
คู่สามีภรรยา
George และ Roberta Poinar ได้เสนอแนวคิดที่แตกต่างออกไปในหนังสือเล่มใหม่ของพวกเขา “What Bugged the Dinosaurs? Insects, Disease and Death in the Cretaceous” โดยการศึกษาฟอสซิลแมลงที่พบในยางไม้ พวกเขาแนะนำว่าแมลงเหล่านี้เคยมีอิทธิพลสำคัญในยุค Cretaceous และแมลงกินเลือดเหล่านี้อาจจะเป็นพาหะนำโรคสำคัญต่างๆ ในหมู่ไดโนเสาร์และเป็นอีกตัวการหนึ่งที่ทำให้จำนวนประชากรไดโนเสาร์ลดลง ซึ่งเมื่อควบคู่กับสาเหตุอื่นๆ เป็นผลทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ในที่สุด

ที่มา PhysOrg.com