Tuesday, January 29, 2008

วิทย์+ศิลป์ ในตารางธาตุ

ตารางธาตุอันแสนน่าเบื่อที่เราต้องท่องจำในวิชาเคมี ได้ถูกศิลปิน 96 คนจาก 8 ประเทศ ออกแบบภาพศิลป์ให้แต่ละธาตุบนตาราง ในรูปแบบของภาพพิมพ์ จนได้ตารางธาตุอันสวยงามที่ผสมผสานความเป็นวิทย์และศิลป์เข้าด้วยกัน

คลิกลิงค์
http://azuregrackle.com/periodictable/table/
เพื่อเข้าไปดูคำอธิบายของแต่ละธาตุและภาพศิลป์

ที่มา/ภาพ
AzureGrackle
Neatorama

Saturday, January 26, 2008

หุ่นยนต์บอกทาง


Advanced Telecommunications Research Institute (ATR) ประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดตัวหุ่นยนต์บอกทาง ที่จะปรี่เข้ามาหาคุณทันทีเมื่อมันรู้ว่าคุณกำลังหลง หุ่นยนต์ที่ถูกทดสอบการใช้งานในห้างแห่งหนึ่ง ทำงานร่วมกับกล้องวีดีโอ 16 ตัว เครื่องจับระยะด้วยเลเซอร์ 6 ตัว และตัวจับสัญญาณวิทยุอีก 9 ตัว ที่ติดตั้งในพื้นที่ 100 ตารางเมตรของห้าง ทำให้หุ่นยนต์สามารถติดตามพฤติกรรมของนักช้อปที่เดินอยู่ในบริเวณดังกล่าวพร้อมกันถึง 20 คน โดยหุ่นยนต์จะวิเคราะห์พฤติกรรมต่างๆ ของนักช้อป เช่น ยืนรอ เดินแบบไร้ทิศทาง ฯลฯ หากหุ่นยนต์แปลพฤติกรรมดังกล่าวว่า คุณกำลังหลงทาง มันก็จะวิ่งเข้ามาถามทันทีว่า "คุณหลงทางหรือเปล่า" หากใช่ มันก็จะแนะนำทางให้คุณ หากคุณบอกว่าเปล่า มันก็จะแนะนำร้านสินค้าหรือร้านอาหารให้คุณ เป็นหุ่นยนต์ที่มีประโยชน์ทีเดียว แต่ก็แอบอายหน่อยๆ หากโดนเจ้าตัวนี้วิ่งปรี่เข้ามาถาม คนอื่นเค้ารู้หมดว่าเราเป็นบ้านนอกเข้ากรุง (ฮา)

ที่มา Pink Tentacle
ภาพจาก Robowatch

สิ่งมีชีวิตสังเคราะห์ด้วยมือมนุษย์

Hamilton Smith และทีมนักวิจัยจาก Craig Venter Institute ผู้กำลังพยายามสร้างสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์ ได้ออกมาประกาศความคืบหน้าของโครงการ โดยล่าสุดทีมนักวิจัยได้สังเคราะห์รหัสพันธุกรรมของแบคทีเรียที่ชื่อว่า Mycoplasma genitalium เสร็จสมบูรณ์แล้ว รหัสพันธุกรรมของแบคทีเรียดังกล่าวประกอบไปด้วยนิวคลีโอไทด์ (หน่วยพื้นฐานของรหัสพันธุกรรม) ทั้งสิ้น 582,970 หน่วย ทำให้รหัสพันธุกรรมสังเคราะห์ด้วยน้ำมือมนุษย์นี้มีความยาวถึงสิบเท่าของรหัสพันธุกรรมที่ยาวที่สุดที่มนุษย์เคย
สังเคราะห์์ขึ้นก่อนหน้านี้

ในขั้นตอนต่อไปทีมนักวิจัยจะนำชุดรหัสพันธุกรรมนี้ใ่่ส่เข้าไปในเซลล์ เพื่อทดสอบดูว่า จะสามารถชักนำให้เซลล์ทำงานได้หรือไม่ โดยหากนักวิจัยส่งชุดรหัสพันธุกรรมสังเคราะห์นี้เข้าไปแทนที่ชุดรหัสพันธุกรรมของแบคทีเรียชนิดอื่น แล้วสามารถเหนี่ยวนำให้แบคทีเรียดังกล่าวเกิดการเปลี่ยนสปีชีส์มาเป็นแบคทีเรีย Mycoplasma genitalium ได้ ก็จะถือว่าพวกเขาสามารถสร้างสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์ตัวแรกของโลกทันที

ที่มา nature.com

Thursday, January 17, 2008

สัตว์โคลนนิ่ง ปลอดภัย และกินได้


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม 2008 ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐได้ออกมาประกาศว่า FDA (องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา) ได้รับรองสัตว์โคลนนิ่ง มีคุณค่าทางโภชนาการ และความปลอดภัย ไม่ต่างจากสัตว์ธรรมดา ดังนั้น FDA จึงอนุญาตให้มีการซื้อขายสัตว์โคลนนิ่งได้ โดยไม่จำเป็นต้องติดฉลากพิเศษระบุว่าเป็นสัตว์โคลนนิ่ง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2001 FDA ได้ระงับ และเลื่อนการซื้อขายเนื้อและนมที่ได้จากสัตว์โคลนนิ่ง และใช้เวลาศึกษาถึงความปลอดภัยกินเวลานาน กว่า 5 ปี จนได้รายงานผลการวิจัยมามากกว่า 300 หน้า

"ไม่มีผลศึกษาใดระบุเลยว่า คุณค่าทางโภชนาการ และความเป็นพิษ ระหว่างสัตว์ธรรมดาและสัตว์โคลนนิ่ง มีความแตกต่างกัน" ประโยคหนึ่งในงานวิจัย ซึ่งถูกตีพิมพ์ ในวารสาร Theriogenology ณ วันที่ 1 มกราคม 2008

ที่มา USATODAY

Tuesday, January 15, 2008

สร้างเนื้อเยื่อหัวใจใหม่ ให้หัวใจกลับมาเต้นได้

นักวิจัยจาก University of Minnesota ประเทศสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการสร้างเนื้อเยื่อหัวใจใหม่และทำให้หัวใจกลับมาเต้นได้ ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Decellularisation โดยผ่าเอาหัวใจจากหนูที่เพิ่งตายใหม่ๆ มาแขวนไว้ในหลอดทดลอง แล้วผ่านกระบวนการเพื่อฆ่าเซลล์ทั้งหมดภายในหัวใจ แล้วล้างออกให้เหลือไว้เพียงโครงร่างของหัวใจ เช่น ห้องหัวใจ ลิ้นปิดห้องหัวใจ และโครงร่างของเส้นเลือด หลังจากนั้นจึงฉีดเซลล์หัวใจจากหนูเกิดใหม่เข้าไปยังโครงร่างหัวใจที่ว่างอยู่ แล้วเลี้ยงเซลล์ด้วยอาหารเลี้ยงเซลล์เพื่อให้เซลล์หัวใจใหม่เจริญเติบโต และกลับมาทำให้หัวใจเต้นอีกครั้ง หลังจากเลี้ยงไปประมาณ 4 วัน นักวิจัยกล่าวว่าเทคนิคนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอวัยวะใดๆ ก็ได้ ซึ่งจะมีประโยชน์หากนำเทคนิคดังกล่าวไปใช้ในกระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อทำให้อวัยวะที่ปลูกเข้า
ไปใหม่กลับมาทำงานอีกครั้ง

ดูวีดีโอสาธิตขั้นตอนต่างๆ ที่ Startribune.com

ที่มาและรูป UMN News

Monday, January 14, 2008

ไอเดียสุดเก๋ "เชคแฮนด์" แทนแลกนามบัตร

ไอเดียสุดเก๋ที่ชนะการประกวด Red dot award: design concept 2007 Designers เป็นผลงานของ Hideaki Matsui, Dong Ho Yun และ Jea Wan Park กับแนวคิด "การแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวด้วยการจับมือ" โดยให้ใส่แหวนที่สามารถเก็บข้อมูลส่วนตัว เช่น รูป ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร หรืออีเมลล์ เมื่อคนสองคนที่ใส่แหวนดังกล่าวทักทายกันด้วยการจับมือ หรือ เชคแฮนด์ ข้อมูลส่วนตัวของทั้งสองฝ่ายก็จะแลกเปลี่ยนกันเมื่อแหวนสัมผัสกัน ซึ่งเราสามารถที่จะดึงข้อมูลของคนที่เราพบออกมาจากแหวนเพื่อดูในภายหลังได้ ไม่ต้องเสียเวลาหยิบนามบัตรมาแลกกัน ทีนี้ไปร่วมงานสังคมที่ต้องพบคนใหม่ๆมากมาย ก็ไล่จับมือไปทีละคนได้เลย ของคนไทยเป็นยกมือไหว้กันจะแลกเปลี่ยนข้อมูลกันยังไงดี ใครช่วยออกแบบหน่อย

ที่มา Red dot

Friday, January 11, 2008

สองหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว Wikia Search Engine เชื่อในปัญญาร่วม

หากเรานำหมูหนึ่งก้อนเดินตระเวณไปทั่วตลาด แล้วให้พ่อค้าแม่ค้าหมูเดาว่า หมูก้อนดังกล่าวหนักเท่าไหร่ ค่าเฉลี่ยของน้ำหนักที่ได้จากคำตอบของพ่อค้าแม่ค้าทุกคน มักจะแม่นยำและใกล้เคียงกับน้ำหนักจริงของเนื้อหมูมากกว่าคำตอบของพ่อค้าหรือแม่ค้าคนใดคนหนึ่ง ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก คำตอบของคนที่เดาน้ำหนักมากเกินไปจะถูกถัวเฉลี่ยไปด้วยคำตอบของคนที่เดาน้ำหนักต่ำเกินไป ความรู้ที่ได้มาในลักษณะนี้เรียกว่า "ปัญญาร่วม" (Crowd wisdom หรือ Collective Wisdom)

ด้วยความเชื่อในปัญญาร่วม Jimmy Wales ผู้ก่อตั้งสารานุกรมออนไลน์ Wikipedia จึงได้ใช้หลักการดังกล่าว จนเวปสารานุกรมออนไลน์แห่งนี้กลายเป็นที่นิยมสูง ด้วยการให้ผู้ใช้งานสามารถช่วยกันเขียนและแก้ไขบทความต่างๆ จนได้บทความที่เกิดจากปัญญาร่วมนั่นเอง

ล่าสุด Jimmy Wales ยังได้เปิดตัวเวปค้นหา หรือ Search Engine ตัวใหม่ที่ใช้แนวคิดเดิม โดยให้ผู้ใช้ Search Engine ช่วยกันแก้ผลการค้นหากันเอง โดยแรกเริ่มจะให้ผู้ใช้ให้ความเห็นกับเวปต่างๆ ที่แสดงขึ้นมาจากผลค้นหา ซึ่งความเห็นต่างๆ ก็จะถูกนำไปใช้จัดลำดับผลการค้นหาในภายหลัง
ขณะนี้เวป Wikia Search Engine ยังเป็นเพียงเวอชั่นแอลฟาเท่านั้น

ลิงค์ Wikia Search Engine

Wednesday, January 9, 2008

ชุดทรงพลัง

นักวิจัยจาก Tokyo University of Agriculture and Technology ประเทศญี่ปุ่น ได้พัฒนาชุดเสริมแรงสำหรับเกษตรกรขึ้นมา เพื่อช่วยให้เกษตรออกกำลังได้อย่างสบายยิ่งขึ้น โดยเจ้าชุดดังกล่าวจะตรวจจับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อของผู้ใช้ และสั่งการให้มอเตอร์ที่ติดอยู่ตามจุดต่างๆ (เช่น แขน ไหล่ เข่า) ทำงานเพื่อช่วยผ่อนกำลังของผู้ใช้ โดยนักวิจัยได้ทดลองใช้ชุดดังกล่าวยกน้ำหนัก 20 กิโลกรัมได้อย่างสบายๆ แถมชุดดังกล่า่่วยังช่วยลดอาการเมื่อยล้าจากการออกแรงนานๆได้เป็นอย่างดี

ที่มา Pink Tentacle

นักวิจัยชี้ สมองเราเป็นนักเิดินทางข้ามเวลา

การสแกนสมองส่วนต่างๆ เพื่อดูว่าสมองส่วนไหนกำลังทำงานอยู่ ทำให้นักวิจัยสามารถศึกษาได้ว่าเวลาเราทำกิจกรรมต่างๆกัน สมองส่วนไหนที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่าสมองส่วนหนึ่งทำงานเฉพาะตอนที่เรา "ไม่ทำอะไร" จึงมีคำถามเิกิดขึ้้นว่า ขณะที่เราไม่ทำอะไร เราทำอะไร (อย่าเพิ่งงครับ)

ล่าสุดนักวิจัยได้เสนอว่า ขณะที่เราไม่ทำอะไร สมองกำลังเดินทางข้ามเวลา โดยการย้อนกลับไปคิดทบทวนเรื่องราวต่างๆ ในอดีตที่เก็บอยู่ในสมอง (ความทรงจำของเรา) หรือแม้กระทั่งเดินทางไปยังอนาคตด้วยการทำนายสิ่งต่างๆ จากข้อมูลที่สมองมีอยู่ ขณะที่เราตั้งใจทำอะไรบางอย่าง (อ่านหนังสือ คิดเลข ดูทีวี) เราจะมีสมาธิอยู่กับ "ปัจจุบัน" และสมองส่วนที่รับผิดชอบในกิจกรรมนั้นๆ ก็จะทำงาน แต่ในขณะที่เรา "ไม่ทำอะไร" เราก็จะเริ่มทบทวนเรื่องในอดีต คาดเดาเรื่องในอนาคต และสมองส่วนที่ไม่ทำอะไร ตอนเราทำอย่างอื่น ก็จะเริ่มทำงาน โรคอัลไซเมอร์เป็นตัวอย่างหนึ่งของความผิดปกติในการทำงานของสมองส่วนนี้ ทำให้ผู้ป่วยติดอยู่กับปัจจุบัน และไม่สามารถใช้สมองย้อนไปในอดีตหรือคาดการณ์อนาคตได้

คำถามต่อมาคือ เราทำอย่างนั้นเพื่ออะไร นักวิจัยได้ชี้ประโยชน์ของการทบทวนเรื่องในอดีตว่า เป็นการช่วยให้เราเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น โดยการ "รีเพลย์" เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น วิเคราะห์และเรียนรู้ ซ้ำไปซ้ำมา โดยไม่ต้องไปเจอเหตุการณ์นั้นอีกในชีวิตจริง นอกจากนี้การเอาเหตุการณ์ในอดีตหลายๆ เหตุการณ์มาวิเคราะห์ร่วมกัน ยังทำให้เราคาดเดาอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย

ที่มา TIME.com

Monday, January 7, 2008

นาฬิกาสำหรับคนชอบคณิตศาสตร์

นาฬิกาสุดแนวออกแบบโดย Triple Nine Society สำหรับคนที่ชื่นชอบคณิตศาสตร์โดยเฉพาะ โดยตัวเลขบนหน้าปัดล้วนแล้วประกอบด้วยเลขเก้าทั้งสิ้น ตัวเลขที่น่าสนใจที่สุดคือ ตัวเลขบอกเวลาเจ็ดโมงครับ ซึ่งคำนวณแล้วจะได้เลข 6.999... ไม่รู้จบ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเท่ากับ 7 เพราะ 0.999... = 1 ครับ

ให้ X = 0.999...
10X = 9.999...
ลบบรรทัดสองด้วยบรรทัดแรก
9X = 9
ดังนั้น X = 1 = 0.999...

ที่มา News.com

Robo Fight: จากเรื่องราวแห่งจินตนาการบนกระดาษ สู่ความเป็นจริง

ประมาณ 30 ปี ที่แล้ว หรือ ในช่วงยุค 70 มีการ์ตูนเรื่องหนึ่ง ที่ได้กล่าวถึงการต่อสู้แข่งขัน ระหว่างหุ่นยนต์ โดยตัวเอกของเรื่องได้พัฒนาหุ่นยนต์ของตัวเองขึ้นมา ซึ่งใช้วิชาคาราเต้ ในการต่อสู้กับหุ่นยนต์คู่แข่ง สำหรับผู้ที่เกิดในยุค 60-80 น่าจะจำกันได้ ใช่แล้วครับ เรื่องนี้คือเรื่อง “จูโอมารู นักสู้คอมพิวเตอร์”


จากวันนั้น ผ่านมาประมาณ 30 ปี จนถึงวันนี้ จูโอมารู บนผืนกระดาษ เริ่มที่จะปรากฏเค้าลางให้เห็นในชีวิตของเราจริงๆแล้ว

ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา ได้มีการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า ROBO-ONE โดยหุ่นยนต์ที่เข้าร่วมการแข่งขันนี้ ไม่ใช้หุ่นยนต์ลักษณะ เคลื่อนที่ด้วยล้อ และมีแขนกลในการหยิบจับของ หรือทำหน้าที่อื่นๆ ตามที่เห็น ในการแข่งขันบ้านเรา แต่เป็นหุนต์ยนต์ที่เดินด้วยขา 2 ขา และลักษณะคล้ายคน (Bipedal Humanoid Robot)

ในการแข่งขัน ได้แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ซึ่งแน่นอน มีการแข่งขันต่อสู้ระหว่างหุ่นยนต์เหมือนในการ์ตูนด้วยเช่นกัน



ส่วนใน อเมริกา ได้มีการจัดการแข่งขันเช่นเดียวกัน แต่เริ่มตั้งแต่ปี 2004 และใช้ชื่อว่า ROBOGAMES



แม้ว่า หุ่นยนต์ต่อสู้ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถ กระโดดเตะต่อย ได้เหมือนในการ์ตูนก็ตามที แต่ผมเชื่อว่า อีกไม่กี่ปีเราคงได้เห็น จูโอมารู หรือ กันดั้ม ออกมาจาก การ์ตูนแน่ๆ


อ้างอิงจาก

Saturday, January 5, 2008

นักวิจัยค้นพบฮอร์โมนที่ทำให้ไม่หลับ

นักวิจัยจาก Defense Advanced Research Projects Agency (DARPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานวิจัยเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีของกองทัพสหรัฐ ได้คิดค้นสเปรย์ที่เมื่อพ่นเข้าทางจมูกของคนที่กำัลังง่วงนอน จะทำให้คนๆนั้น ตื่นขึ้นมาอย่างกระชุ่มชวยทันที สเปรย์ดังกล่าวมีส่วนประกอบของสาร orexin A ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สมองมนุษย์ผลิตขึ้นตามธรรมชาติ จากการทดลองบังคับให้ลิงอดหลับอดนอนเป็นเวลา 30 ถึง 36 ชั่วโมง แล้วพ่นเสปรย์ดังกล่าวให้นั้น พบว่าลิงกลุ่มดังกล่า่วกลับมาเหมือนลิงปกติที่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ และยังไม่พบผลข้างเคียงใดๆ จากการใช้สารดังกล่าว นักวิัจัยคาดว่าสเปรย์ดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้กับทหารที่อยู่ในสนามรบ เพื่อกระตุ้นให้ทหารตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา

ที่มา The Daily Galaxy

Friday, January 4, 2008

ชม 7 หนังไซไฟจากยุโรปที่ม.ธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอภาพยนตร์วิทยาศาสตร์จำนวน 7 เรื่อง ฉายทุกวันอาทิตย์ ตลอดเดือนมกราคมนี้ ณ ห้องสมุดเรวัติ พุทธินันท์ ชั้นยู 2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เริ่มฉายเรื่องแรก อาทิตย์ที่ 6 ม.ค. เวลา 12:30 น. โดยภาพยนต์ทั้งเจ็ดเรื่องล้วนเป็นหนังไซไฟที่หาดูได้ยากจากประเทศยุโรป ดูรายละเอียดของภาพยนตร์และวันเวลาที่ฉายของหนังทั้งเ็จ็ดเรื่องที่เวปไซด์สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คลิกที่นี่

ที่มา เมเนเจอร์ออนไลน์
รายละเอียดเพิ่มเติม เวปไซด์สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Thursday, January 3, 2008

แนวคิดใหม่ ไดโนเสาร์สูญพันธุ์เพราะแมลง

การชนของอุกกาบาตและภูเขาไฟระเบิดมักถูกใช้อธิบายการลดลงอย่างรวดเร็วของจำนวนไดโนเสาร์
จนนำมาซึ่งการสูญพันธุ์ อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวไม่สามารถอธิบายการลดลงของจำนวนไดโนเสาร์อย่างช้าๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เรียกว่า "K-T boundary" ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างยุค Cretaceous และ Tertiary
คู่สามีภรรยา
George และ Roberta Poinar ได้เสนอแนวคิดที่แตกต่างออกไปในหนังสือเล่มใหม่ของพวกเขา “What Bugged the Dinosaurs? Insects, Disease and Death in the Cretaceous” โดยการศึกษาฟอสซิลแมลงที่พบในยางไม้ พวกเขาแนะนำว่าแมลงเหล่านี้เคยมีอิทธิพลสำคัญในยุค Cretaceous และแมลงกินเลือดเหล่านี้อาจจะเป็นพาหะนำโรคสำคัญต่างๆ ในหมู่ไดโนเสาร์และเป็นอีกตัวการหนึ่งที่ทำให้จำนวนประชากรไดโนเสาร์ลดลง ซึ่งเมื่อควบคู่กับสาเหตุอื่นๆ เป็นผลทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ในที่สุด

ที่มา PhysOrg.com