Saturday, February 23, 2008
ถอดรหัสจักรวาลด้วย ATLAS Experiment
ATLAS Experiment คือการทดลองทางด้าน ฟิสิกส์อนุภาค (Particle Physics) ด้วยเครื่องเร่งอนุภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่นักฟิสิกส์เคยสร้างขึ้นมา เพื่อศึกษาอนุภาคพื้นฐานที่ประกอบขึ้นเป็นจักรวาลและรวมถึงตัวเรา เครื่องเร่งอนุภาคดังกล่าวเมื่อสร้างเสร็จ จะประกอบด้วยอุโมงค์ที่ใช้เร่งอนุภาคที่มีความยาวถึง 27 กิโลเมตร (วางตัวเป็นวงกลมกินพื้นที่ทั้งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส-ดูภาพด้านบน) มีนักฟิสิกส์มากถึง 2,100 คนที่ทำงานอยู่ในโปรเจคนี้
หากเราย้อนกลับไปทบทวนความรู้สมัยม.ปลาย เราจะอาจเคยเข้าใจว่าอนุภาคพื้นฐานที่ประกอบขึ้นเป็นสสารต่างๆ คือ โปรตรอน นิวตรอน และอิเลกตรอน อย่างไรก็ตาม เมื่อความรู้ทางฟิสิกส์ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ นักฟิสิกส์พบว่ายังมีอนุภาคพื้นฐานที่ย่อยลงไปอีกหลายชนิด อนุภาคเหล่านี้บางตัวค้นพบหลังจากมีการทำนายถึงการมีอยู่เป็นเวลาหลายสิบปี บางตัวยังไม่สามารถค้นพบได้ด้วยเครื่องมือปัจจุบัน Atlas Experiment จึงเกิดขึ้นเพื่อค้นหาและศึกษาอนุภาคเหล่านี้ ซึ่งอาจจะทำให้เราเข้าใจโครงสร้างของจักรวาลได้ดียิ่งขึ้น
หลักการของเครื่องเร่งอนุภาคคือ อนุภาคจะถูกปล่อยออกจากต้นกำเนิดให้วิ่งออกไปตามท่อในอุโมงค์ทั้งสองด้านของเส้นรอบวงวงกลม อนุภาคจะถูกเร่งจนถึงความเร็วเกือบเท่าแสง ก่อนไปชนกันที่เครื่องตรวจวัด ขณะที่อนุภาคชนกัน พลังงานของอนุภาคจะถูกเปลี่ยนเป็นมวล ซึ่งก่อให้เกิดอนุภาคอื่นๆ อนุภาคเหล่านี้อาจจะไม่เสถียรและเปลี่ยนไปเป็นอนุภาคอื่นภายในเสี้ยวของเสี้ยวของเสี้ยววินาที แต่นั่นก็เพียงพอที่จะพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของมัน รวมทั้งเพียงพอที่นักฟิสิกส์จะศึกษาคุณสมบัติของมัน
การทดลองนี้จะเริ่มต้นในกลางปีนี้ (2551) exscinet จะนำความคืบหน้ามาเสนอในโอกาสต่อไป
ที่มา ATLAS.ch
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment